‘บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง’ หรือ DMT เดินหน้าศึกษาขยายไลน์ธุรกิจใหม่ หลังเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งรอง (Feeder) เชื่อมโยงการเดินทางเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะ เล็งเสนอรูปแบบพัฒนาฟีดเดอร์รถไฟฟ้าสายสีแดงด้วยระบบ Smart Feeder หากภาครัฐเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในปลายปีนี้
นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) หรือ DMT เปิดเผยว่า จากนโยบายดำเนินธุรกิจที่มุ่งนำความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และร่วมพัฒนาเครือข่ายด้านคมนาคมของประเทศให้มีความเข้มแข็งด้วย Technology ที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาและพัฒนาโครงการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งรอง (Feeder) เชื่อมโยงเครือข่ายการเดินทางระหว่างชุมชนสู่ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เช่น รถไฟฟ้า สนามบิน เป็นต้น โดยใช้ระบบ Smart Feeder เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในเดินทาง
ทั้งนี้ DMT ให้ความสนใจเข้าร่วมพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งรอง (Feeder) โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง หลังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) มีนโยบายให้เอกชนเข้าร่วมพัฒนาโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงรูปแบบการเดินทาง เพื่อเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและสนามบินในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเริ่มจากการศึกษาพัฒนาระบบฟีดเดอร์โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนเดินทางเข้าสู่สถานีต่าง ๆ
“เราสนใจศึกษาพัฒนาโครงการระบบขนส่งรอง (Feeder) ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยเราจะนำประสบการณ์การดำเนินงานด้านการบริหารโครงสร้างพื้นฐานเข้ามาร่วมกับพันธมิตร เพื่อพัฒนาโครงการให้ประชาชนที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ รวมถึงประชาชนโดยรอบให้สามารถเข้ามาใช้บริการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยใช้ระบบ Smart Feeder ที่บริษัทฯ ศึกษา เช่น ระบบรถโดยสารขนาดตั้งแต่ EV Mini Bus, EV Full Size Bus, และ Tram Bus ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน (Electric Vehicle : EV) ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีระบบ Smart Card, QR Code, และ EMV (Europay, Mastercard, and Visa) เพื่อรองรับ Cashless Society ในการชำระค่าโดยสาร มีระบบสนับสนุนการสื่อสาร WiFi ระบบดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนด้วยกล้อง CCTV ในรถโดยสาร มี Mobile Application เพื่อให้ประชาชนสามารถคาดการณ์การเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพและจัดทำป้ายรถโดยสาร Smart Bus Stop และศึกษาการนำพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์มาเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ป้ายรถโดยสาร เป็นต้น รวมเรียกโครงการทั้งหมดนี้ว่า Smart Feeder เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในเดินทาง โดยการศึกษาพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งรอง (Feeder) สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงจะเป็นโครงการเริ่มต้นเพื่อนำร่องไปสู่การพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้กับองค์กรในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในอนาคตอันใกล้” นายธานินทร์ กล่าว
รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการฯ ในนามสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หรือ สจล. กล่าวว่า การพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งรอง (Feeder) เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนตัดสินใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งผลการศึกษาขั้นต้นของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) กำหนดพื้นที่นำร่องในการพัฒนาโครงข่ายการเดินทางเชื่อมโยงรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการลงทุนและร่วมประกอบการ โดย สจล. ร่วมกับ DMT ได้ตกลงทำความร่วมมือ ในการศึกษาพัฒนาโครงข่าย Feeder ในพื้นที่นำร่องดังกล่าว เนื่องจากเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่เกิดจากการศึกษาร่วมกัน เช่น การบรรเทาปัญหาจราจรติดขัดบนท้องถนน การลดปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม การเพิ่มโอกาสการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะหลัก และการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง รวมทั้งการเพิ่มโอกาสในการลงทุนประกอบการ เป็นต้น เพื่อเป้าหมายของการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม