นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงแนวทางการพัฒนากฎหมายเพื่อเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ภายในปี 2565 และการขับเคลื่อนมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกว่า ที่ผ่านมาปัญหาขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความรู้สึกของประชาชน จึงจำเป็นทั้งด้านข้อมูลผลกระทบต่อระบบนิเวศที่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ และข้อมูลปริมาณขยะพลาสติกที่เข้าสู่บ่อฝังกลบ (Landfill) ที่ต้องผลักดันไปสู่การพัฒนากฎหมายเพื่อเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว โดยเฉพาะถุงพลาสติกแบบบางที่มีขนาดน้อยกว่า 36 ไมครอน หลอดพลาสติก และแก้วพลาสติกแบบบาง รวมถึง ต้องเพิ่มการสร้างความรับผิดชอบจากผู้ผลิตและการสร้างวินัยให้กับผู้บริโภคควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ การกำหนดการนำเข้าเศษพลาสติกในปัจจุบัน ประเทศไทยนำเข้าเศษพลาสติกปี 2564 ช่วงเดือนมกราคม-มิถุนายน รวมปริมาณ 71,182 ตัน กรมควบคุมมลพิษ จึงเตรียมการเสนอมาตรการกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยกำหนดการนำเข้าเศษพลาสติกปี 2564 ในปริมาณ 250,000 ตันต่อปี หรือประมาณร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตทั้งหมดของโรงงาน จากปีฐาน 2563 ร่วมกับ การใช้เศษพลาสติกภายในประเทศปริมาณ 250,000 ตันต่อปี และกำหนดให้ลดปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติกปีละร้อยละ 20 หรือประมาณ 50,000 ตัน และห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 100 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ด้วยการสนับสนุนการใช้เศษพลาสติกภายในประเทศเพื่อเป็นวัตถุดิบในโรงงาน 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยระบบการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model)
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประเทศไทย ได้กำหนด Road Map การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ด้วยการกำหนดเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ การลดเลิกใช้พลาสติกเป้าหมายแล้วใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผสมสารอ๊อกโซ่ (Oxo) และไมโครบีดส์เมื่อปี 2562 และกำหนดให้เลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบางน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบบางน้อยกว่า 100 ไมครอน และหลอดพลาสติกภายในปี 2565 และสุดท้าย การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2570