นางสาววิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เชื้อแพร่กระจายทางอากาศ การรักษาผู้ป่วยจากไวรัสโควิดจึงมีความจำเป็นต้องแยกจากผู้ป่วยทั่วไป โดยแยกไปรักษาดูแลในห้องความดันลบ แต่จากความรุนแรงของการระบาด ทำให้ห้องความดันลบที่มีอยู่ในโรงพยาบาลต่างๆ มีไม่เพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยอาการหนักที่เพิ่มขึ้นได้
วช.จึงได้สนับสนุนทุนวิจัย ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการวิจัยพัฒนาห้องไอซียูความดันลบเคลื่อนที่ จนเป็นผลสำเร็จ ทำให้การเพิ่มห้องความดันลบเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 สามารถทำได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ที่สำคัญสามารถป้องกันการแพร่เชื้อกระจายออกไปสู่ภายนอก และช่วยปกป้องแพทย์และพยาบาลที่ทำหน้าที่ดูแลได้เป็นอย่างดี
ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันต์ อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า หลังจากได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการพัฒนานวัตกรรมห้องไอซียูความดันลบเคลื่อนที่จนเป็นผลสำเร็จ จึงมีการพัฒนาต่อยอดการทำงานของห้องไอซียูความดันลบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สนับสนุนการทำงานของแพทย์และพยาบาลให้เกิดความสะดวก พัฒนาระบบควบคุมภายในให้มีความทันสมัย เป็นระบบอัจฉริยะสามารถทำงานเองได้โดยอัตโนมัติ สามารถปรับเปลี่ยนแรงดันภายในห้องไปตามการใช้งาน ในกรณีทีมีการขนส่งผู้ป่วยเข้ามาในห้อง เมื่อมีการเปิด-ปิดประตู คอมพิวเตอร์จะควบคุมและปรับแรงดันในห้องผู้ป่วยและห้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ สามารถแจ้งเตือนได้เมื่อผู้ใช้งานลืมเปิดประตูทิ้งไว้ โดยระบบควบคุมสามารถเชื่อมต่อและรายงานผลของห้องผ่านมอนิเตอร์หน้าห้อง
สำหรับห้องประสิทธิภาพของไอซียูความดันลบเคลื่อนที่เป็นห้องสำเร็จรูป ขนาด 3 6.5 เมตร / ยูนิต พื้นที่ภายในแบ่งออกเป็น 2 ห้องคือ ห้องสำหรับผู้ป่วยและห้องสำหรับผู้ดูแล มีระบบคอมพิวเตอร์คอยควบคุม แต่ละห้องมีระบบปรับอากาศ มีระบบควบคุมแรงดันอากาศอัตโนมัติ มีความดันที่เหมาะสมและสัมพันธ์กันตลอดเวลาและกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อมั่นใจได้ว่า อากาศภายในห้องที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนจะไม่ไหลออกมาสู่ภายนอก
ปัจจุบันได้มีการผลิตห้องไอซียูและนำไปติดตั้งที่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามหลายแห่ง ในกรุงเทพมหานครและปริมลฑล เช่น โรงพยายาบาลสนามบุษราคัม โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลเลิศสิน โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และจะนำติดตั้งที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ เร็วๆ นี้