จากกรณีที่ ครม.อนุมัติโครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สงขลา นราธิวาส ยะลา และ ปัตตานี ทั้งนี้ ลูกจ้างกิจการใด ได้รับบ้าง 1.ก่อสร้าง 2.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3.ศิลปะความบันเทิงและนันทนาการ 4.กิจกรรม บริการด้านอื่นๆ 5.การขายส่ง ปลีก ซ่อมยานยนต์ 6.การขนส่งและสถานที่เก็นสินค้า 7.กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 8.กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์ และกิจกรรมทางวิชาการ 9.ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร
จ่ายเงินเยียวยาเท่าไหร่ 1. ลูกจ้างม. 33 รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท ต่อคน (สัญชาติไทย) ผ่านพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น 2.นายจ้าง ม.33 รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท ต่อหัว สูงสุดไม่เกิน 200 คน นายจ้างบุคคลธรรมดา รับเงินผ่านพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น นายจ้างนิติบุคคล รับเงินผ่านบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้กับสำนักงานประกันสังคม
รับเงินเยียวยาเมื่อไหร่ 1.กลุ่ม 10 จังหวัด กทม. นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา นราธิวาส ยะลา และ ปัตตานี เริ่มรับเงินเยียวยา วันที่ 4 สิงหาคม โดยจะโอนวันละไม่เกิน 1 ล้านคน เสร็จสิ้นไม่เกิน 6 สิงหาคม และ2. กลุ่ม จังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ พระนครศรีอยุธยา จะได้รับเงินโอนเข้าบัญชีวันที่ 9 สิงหาคมนี้
ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่าที่ประชุมครม.เห็นชอบขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน ผู้ประกอบการ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติครม. เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พร้อมขยายกรอบวงเงินการให้ความช่วยเหลือ เพิ่มเป็น 60,000 ล้านบาท จากเดิม 30,000 ล้านบาท รายละเอียด ดังนี้ 1.ปรับเพิ่มพื้นที่เยียวยาผลกระทบเพิ่มอีก 16 จังหวัดจากเดิม 13 จังหวัด รวมเป็น 29 จังหวัด ได้แก่ กทม. กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี อยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรีและอ่างทอง
นายอนุชา กล่าวต่อว่า 2. กลุ่มเป้าหมายให้ความช่วยเหลือ ยังคงครอบคลุมกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในส่วนที่อยู่ในระบบประกันสังคมและไม่อยู่ในระบบประกันสังคม 3. ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ คือ กิจการในระบบประกันสังคมจะครอบคลุม 9 สาขาและในกลุ่มผู้ประกอบการในระบบ ถุงเงิน ภายใต้โครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะในปัจจุบันที่ผ่านการคัดกรองแล้วและไม่เป็นผู้ถูกตัดสิทธิ์จากกระทรวงการคลัง จำนวน 5 กลุ่ม 4. รูปแบบการให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม และ 5. ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ กลุ่ม 13 จังหวัดเดิม ได้แก่ กรกฎาคม-สิงหาคม รวม2 เดือน ส่วนกลุ่ม 16 จังหวัดที่เพิ่มเติมให้ความช่วยเหลือเดือนสิงหาคม
“กระทรวงแรงงานได้รับมอบหมายให้เร่งจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ขับรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่) และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทำให้ไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการลดผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม เพื่อนำเข้าที่ประชุมเพื่อให้ครม.พิจารณาต่อไป” นายอนุชา กล่าว