Home ทัศนะ สิ่งพิมพ์บุญ กายเนรมิต‘ปิยโสภณ’ เครื่องมือปลูกรากแก้วให้แผ่นดิน

สิ่งพิมพ์บุญ กายเนรมิต‘ปิยโสภณ’ เครื่องมือปลูกรากแก้วให้แผ่นดิน

1146

ทุกครั้งคราที่เอ่ยถึง “สิ่งพิมพ์และธุรกิจการพิมพ์” เชื่อว่าผู้คนส่วนหนึ่งก็มักจะนึกถึงการค้าการขายที่มีผลกำไรเป็นเป้าหมาย อีกส่วนหนึ่งก็คงจะนึกถึงความเป็น “สื่อ” ที่มีภารกิจแจ้งข่าว,เรื่องราวและนำเสนอแนวคิดจากคนหนึ่งเผยแพร่ไปสู่อีกหลายคน

แต่คงมีคนจำนวนน้อยที่จะนึกถึงสิ่งพิมพ์บุญในบวรพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะที่มีการนำไปใช้ในลักษณะผสมผสานทั้ง 2 สิ่งเข้าด้วยกัน นั่นคือ ใช้เพื่อการค้าขายก็ได้ และใช้เพื่อการเผยแพร่ความคิดก็ได้ด้วย ดังเช่นที่ท่านเจ้าคุณพระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช) หรือนามปากกา “ปิยโสภณ” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ได้เลือกใช้“สิ่งพิมพ์” เป็นเครื่องมือร่วมปลูกรากแก้วให้แก่แผ่นดิน!

@ สิ่งพิมพ์ : กายทิพย์แยกร่าง

ท่านปิยโสภณถือเป็นหนึ่งในพระภิกษุสงฆ์นักพัฒนา ผู้คนในสังคมบุญของเมืองไทยรู้จักในฐานะผู้ปลูกรากแก้วให้แก่แผ่นดิน เป็นผู้ร่วมสร้างโรงเรียนปลูกรากแก้วแผ่นดิน (สำหรับฝึกอบรมสามเณรและเยาวชนของชาติ) ในนามมูลนิธิส่งเสริมสามเณร ในพระสังฆราชูปถัมภ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก กรุงเทพมหานคร

แต่สิ่งที่ต้องกล่าวถึงในที่นี้ซึ่งมีคุณค่าและสำคัญมากคือ การเขียนหนังสือแนวสอนใจและพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มเพื่อใช้เป็น“เครื่องมือ”สื่อประสานแนวคิดไปสู่ผู้รับสาร ซึ่งมีทั้งญาติโยมผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเยาวชนที่ยังคงต้องการฟูมฟักด้วยสิ่งที่ดีงาม  โดยในช่วงที่ผ่านมาได้รับการตอบรับและกล่าวถึงกันมากทั้งในกลวิธีการเขียน. การสอดแทรกสาระและประเด็นการนำเสนอ ฯลฯ

ท่านปิยโสภณให้เหตุผลที่เป็นแรงบันดาลใจให้ดำเนินงานเขียน และผลิตเป็นสิ่งพิมพ์ต่างๆ ออกมา ทั้งหนังสือ แผ่นพับ ใบปลิว ซีดีภาพ ซีดีเสียง เพราะต้องการอยากจะเนรมิตคน ๆ เดียวให้เป็นร้อยคนพันคน ซึ่งเรียกว่า กายทิพย์  กล่าวคือ ถ้าท่านพูดด้วยคน ๆ คนเดียว ก็ทำได้แค่นั้น แต่ถ้าทำเป็นสิ่งพิมพ์ออกไป คนก็เอาไปอ่าน   ก็เหมือนมีคนนั่งดูท่านอยู่เช่นกันว่า กำลังพูดอะไรและคิดอะไร

หรืออย่าง “พระอาจารย์พูดคุยกัน 2 คนก็ได้รับสาร 2 คน ถ้าพูดห้องโถงใหญ่มีคนฟัง 100 คนก็ได้ 100 คน แต่ทีนี้พระอาจารย์คนเดียวพูดเหนื่อยไม่ไหวแล้ว ก็เนรมิตตัวเองเลย โดยพิมพ์เป็นหนังสือ 5,000 เล่ม  ก็เป็น 5,000 คนที่รับฟังหรือมากกว่า รวมกับแผ่นพับใบปลิวด้วย  แจกกระจายออกไป ก็ง่ายขึ้น แบ่งเบาภาระได้ มีผู้รับสารมากขึ้นแบบเป็นดาวกระจาย”

@ เอกสารA4 : จุดเริ่มใช้สิ่งพิมพ์

การใช้สิ่งพิมพ์เผยแพร่แนวคิดของท่านปิยโสภณ เริ่มขึ้นครั้งเมื่อปี พ.ศ.2541 หรือ 16 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากการใช้กระดาษ A4 พับครึ่ง พิมพ์ข้อคิดลงไปแล้วแจกให้ญาติโยมอ่าน วันหนึ่งๆ  คนไปวัด 100 คนก็พิมพ์ 100 แผ่น แจกหมดแล้วก็ถ่ายเอกสารใหม่  มีเครื่องถ่ายเอกสารเล็กๆ ให้ทำทุกวัน  วันเวลาผ่านไป 1 ปี ความคิดของท่านปิยโสภณที่หลั่งไหลออกมาใหม่ทุกวันผ่านแผ่นกระดาษ A4 นั้นก็มีมากขึ้นๆ  ญาติโยมที่เห็นคุณค่าและคิดว่าเป็นประโยชน์ ก็เอาไปเผยแพร่ต่อ บางคนก็รวบรวมส่งเข้าโรงพิมพ์ทำออกมาเป็นเล่มหนังสือ

“สื่อทีวี อาทิ ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. พิธีกรรายการธรรมมะช่วงเช้าๆ ได้เอาบางถ้อยบางตอนที่เป็นข้อคิดไปอ่านออกอากาศ คนฟังชอบ ก็มาหาอ่านหนังสือ   จึงเป็นจุดเริ่มจุดหนึ่งที่มีคนสนใจขึ้นมา มีคนนิมนต์ไปบรรยาย ไปสอนหนังสือ จากคนที่ไม่รู้จักเราก็เริ่มรู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ จากแนวคิดที่ก่อตัวผ่านกระดาษ A4 แผ่นเดียว”

ด้วยเหตุเริ่มต้นที่มาจากกระดาษ A4 แผ่นเดียว ท่านปิยโสภณก็มาคิดว่า มนุษย์ถ้าจะทำงานใหญ่ก็ต้องเริ่มจากงานเล็กที่สุด เหมือนกับโพธิ์ต้นใหญ่ก็เริ่มจากต้นเล็กที่สุด ไม่ต้องไปรอว่า งานใหญ่ต้องทำด้วยคนหมู่มาก ไม่ต้องรอการประชุมที่มีคนจำนวนมากแล้วเรียกเป็นงานใหญ่ แต่เป็นงานที่เริ่มแล้ว“จุดประกาย”ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปฏิรูปประเทศหรือปฏิรูปตนเอง ก็เริ่มจากสิ่งที่เล็กที่สุด “สิ่งที่เล็กที่สุดพระพุทธเจ้าบอกว่าคือความคิด ความคิดอยู่ที่ไหน อยู่ในตัวตนเรา มองไม่เห็นด้วยตา แต่มีความคิด ถ้าเป็นกายภาพเริ่มต้นที่ลมหายใจ ถ้าเป็นจิตวิญญาณเริ่มต้นที่ความคิด”

@เสน่ห์ผ้าขี้ริ้ว : หนังสือเรื่องแรก

สิ่งพิมพ์ของท่านปิยโสภณ   ที่มีญาติโยมเอาไปรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มนั้น  ทำด้วยทุนส่วนตัวของญาติโยมเอง  เนื่องจากมีความศรัทธา ส่วนหนึ่งนิยมเอาไปพิมพ์แจกงานศพบ้างอะไรบ้าง เช่น เรื่อง “ตายไม่มี” เขียนสั้นๆ ใครอ่านแล้วชอบ ก็เอาไปพิมพ์ต่อแล้วแจกๆๆๆ เขียนเรื่อง “อภัยทาน” คนชอบก็เอาไปพิมพ์แจกเอง ต่อมาสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือด้านศาสนาจำหน่ายโดยตรง เห็นก็เอาไปพิมพ์ขาย  หนังสือของท่านปิยโสภณก็ได้รับการตีพิมพ์และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

หนังสือเล่มแรกที่เขียนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวชื่อว่า“เสน่ห์ผ้าขี้ริ้ว” นำเสนอชีวิตเริ่มต้นสมัยเด็กๆ  ของท่านปิยโสภณ ซึ่งได้ไปเล่าให้เด็กนักเรียนฟังที่โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ บดินทร์เดชา  ว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้อยากทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ อะไรที่ทำให้อยากบวช ซึ่งเด็กนักเรียนที่นั่งฟังอยู่นั้นมีโอกาสเรียนหนังสือ บางคนมีโอกาสแต่ไม่อยากเรียน  มีโรงเรียนดี มีครูดี มีอุปกรณ์ครบทุกอย่าง แต่ขี้เกียจเรียน ไม่เข้าเรียนบ้างอะไรบ้าง  ขณะที่เด็กบางคนไม่มีโอกาสเรียนแต่อยากเรียน ดั่งเช่นท่านปิยโสภณ

แม้ที่มาของการเขียนหนังสือเรื่อง “เสน่ห์ผ้าขี้ริ้ว” เริ่มขึ้นจากเรื่องเล่าให้เด็กนักเรียนฟัง แต่เนื้อหาในหนังสือไม่ใช่การถอดเทปคำบรรยาย  เป็นการเขียนขึ้นเพื่อใช้พิมพ์เป็นหนังสือ ซึ่งจะใช้ภาษาแตกต่างกัน จึงปรากฏว่า ได้รับการตอบรับและคำชมจากญาติโยมและพระผู้ใหญ่ว่า เป็นหนังสือที่อ่านง่ายและเข้าใจได้ดี จึงเหมาะสำหรับพิมพ์ให้เด็กอ่าน และญาติโยมก็มีการนำไปพิมพ์ซ้ำพิมพ์แจกเรื่อยมา โดยท่านปิยโสภณไม่ได้เป็นผู้ออกทุนพิมพ์เองอีกเช่นเคย

@ โรงพิมพ์ใหญ่เล็ก : แบ่งงาน

ท่านปิยโสภณไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาเลือกโรงพิมพ์หรือส่งงานเข้าโรงพิมพ์ ขึ้นอยู่กับว่า ญาติโยมจะนำไปพิมพ์ที่ไหน เจ้าภาพบางคนรู้จักโรงพิมพ์ไหนก็นำไปพิมพ์ ดังมีรายชื่อโรงพิมพ์ปรากฏในหนังสือแต่ละเล่มแตกต่างกันไป อาทิ โรงพิมพ์พลัสเพรส ถนนประชาสงเคราะห์, แสงศิลป์การพิมพ์ ถนนรางน้ำ, โรงพิมพ์บริษัท ไซเบอร์พริ้นท์ กรุ๊ป จำกัด, โรงพิมพ์บริษัท คอมฟอร์ม จำกัด ฯลฯ  ทั้งนี้ อาจพิมพ์ฟรีบ้าง พิมพ์ราคาถูกบ้าง และบางโรงพิมพ์ก็ยังช่วยเก็บสต็อกไว้ให้ด้วย โดยที่ไม่ต้องขนหนังสือไปเก็บที่วัด

นอกจากท่านปิยโสภณ จะเป็นผู้เขียนเรื่องเองแล้ว ยังวาดภาพสีน้ำประกอบเองด้วย โดยที่ท่านบอกว่า เรียนวิชาวาดภาพมาจากยูทูป รวมทั้งการวางเลย์เอ้าต์หน้าตาของหนังสือ ก็จะเป็นผู้กำหนดและตรวจเองทั้งหมด

@ อภัยทานฯ : ยอดพิมพ์ 5 แสน!

ยอดพิมพ์หนังสือแต่ละเล่มอยู่ในช่วง 5,000-10,000 เล่ม หนังสือของท่านปิยโสภณส่วนมากเป็นหนังสือเล่มเล็ก สามารถอ่านจบได้ในเวลาอันสั้น ส่วนหนังสือที่มีความหนามาก มีจำนวนน้อย  อย่างเช่น หนังสือชื่อ “ความลับในอารมณ์” และ “แม่…ชีวิตคืออะไร” ถือว่าเป็นเล่มใหญ่แล้ว

ถ้านับจำนวนปกหนังสือหรือชื่อเรื่อง นับตั้งแต่ปี 2541ถึงปัจจุบัน น่าจะรวมได้ประมาณ 35 เรื่อง ประเภทนวนิยายก็เคยเขียนแต่ไม่ได้พิมพ์ เพราะเคยเอาไปให้คนทดลองอ่านแล้วรู้สึกว่า เป็นงานเขียนแบบเสียดสีคันๆ อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นได้ จึงเก็บไว้เฉยๆ ไม่เผยแพร่

ทั้งนี้ ในจำนวนหนังสือกว่า 35 เรื่องที่พิมพ์ออกมาแล้วนี้  เรื่อง “อภัยทาน รักบริสุทธิ์” พิมพ์แล้วประมาณ 500,000 เล่ม ถือว่ามียอดสูงมากสำหรับหนังสือของท่านปิยโสภณ  โดยทำการพิมพ์ออกมาแจกครั้งแรกเมื่อปี 2546  แต่ในปัจจุบันมีทั้งการพิมพ์แจกและพิมพ์จำหน่าย

@ สิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ : แจกแถม

นอกจากหนังสือแล้ว ท่านปิยโสภณ ยังมีการจัดทำสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์(ซีดี) สอดแทรกแจกแถมไปพร้อมกับหนังสือบางเรื่องบางเล่มด้วย เผื่อเป็นทางเลือกให้ผู้คนว่า “ใครอยากอ่านก็ได้อ่าน ใครอยากฟังก็ได้ฟัง ใครอยากดูก็ได้ดู” เรียกว่าเป็นสื่อ 3 สัมผัส

“วิธีคิดเรื่อง คิดจากธรรมะและเหตุการณ์จริง คิดเอาจากคนที่มาหานี่เอง เพราะมีญาติโยมมาหาทุกวัน บางวันมาเป็นร้อยคน บางคนกำลังคิดจะฆ่าตัวตายก็มี บางคนก็กำลังพลัดพราก บางคนสูญเสีย บางคนรวยแต่มีทุกข์ บางคนจนแต่มีสุข อะไรอย่างนี้ เราก็คุยๆ เสร็จก็ประมวลเป็นธรรมะ คอนเซ็ปต์แต่ละเรื่องมีมาจากสิ่งแวดล้อมเป็นแรงบันดาลใจ เอาตัวอย่างของคนนี้ไปสอนคนโน้น เอาตัวอย่างคนโน้นมาสอนคนนี้ เก็บๆ ไว้เป็นข้อมูล  ซึ่งธรรมะเกิดจากทุกข์”

“สิ่งพิมพ์ดิจิตอล(ซีดี) ก็ทำมานานแล้วพร้อมๆ กับหนังสือ สมัยก่อนมีกล้องวิดีโอเล็กๆ ตัวหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ก็ดีขึ้น มีห้องทำงาน มีห้องตัดต่อเสียงทุกอย่างอยู่ที่มูลนิธิส่งเสริมสามเณรฯ แห่งนี้ ผลิตรายการโทรทัศน์ อาทิ รายการ“เณรปลูกปัญญา”  “เณรรากแก้ว” ฯลฯ ของสถานีโทรทัศน์ทรู ก็ผลิตที่ห้องสตูดิโอซึ่งอยู่ชั้นบนของสำนักงาน”

ท่านปิยโสภณ กล่าวว่า แนวของเรื่องการทำสิ่งพิมพ์ดิจิตอล ไม่ได้ผูกติดว่าจะต้องเหมือนกับหนังสือ หรือหนังสือจะไม่ได้เกิดจากการถอดเทปเสียงบรรยายหรือละครในซีดี เพราะภาษาต่างกัน หนังสือจะใช้ภาษาเขียน ไม่ใช่ภาษาพูด จะเน้นเรื่องภาษาในการเขียนพอสมควร หนังสือจึงมีออกมาไม่มาก

@ ลิขสิทธิ์หนังสือ : ใครๆ ก็พิมพ์ได้

ดังที่กล่าวแล้วว่า หนังสือของท่านปิยโสภณมีทั้งการพิมพ์แจกและจำหน่าย อาทิ บางเล่มก็เป็นการพิมพ์จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ธรรมสภา,สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียงฯ ฯลฯ  โดยราคาจำหน่ายก็กำหนดตามที่ผู้จัดพิมพ์เห็นควร ซึ่งหนังสือของท่านปิยโสภณทั้ง 35 เล่มไม่มีค่าลิขสิทธิ์ ดังนั้น หากสำนักพิมพ์หรือโรงพิมพ์อื่นใดจะนำไปพิมพ์แจกเพิ่มหรือพิมพ์ขายอย่างไรก็ได้ การเขียนหนังสือขึ้นมาไม่ได้ต้องการเป็นตัวเงิน การที่หนังสือและแนวคิดได้มีการเผยแพร่ก็เป็นการดีแล้ว

“ถ้าโรงพิมพ์อื่นๆ ต้องการนำไปพิมพ์เป็นของชำร่วยก็นำไปพิมพ์ได้ จะมาผ่านที่มูลนิธินี้หรือไม่ผ่านก็ได้ไม่ติดใจ หรือถ้าพิมพ์เสร็จแล้วอยากจะนำมาแบ่งปันผ่านที่นี่บ้างก็นำมาได้ จะได้นำส่งต่อไปวัดบ้านนอกที่อยู่ไกลและยังขาดแคลนหนังสือกลุ่มนี้ ซึ่งวัดจะใช้แจกในงานกฐินหรืองานบุญต่างๆของท้องถิ่น”

@ สิ่งพิมพ์&โรงพิมพ์ : ไม่มีวันตาย

ท่านปิยโสภณได้กล่าวถึงการพิมพ์และธุรกิจโรงพิมพ์ว่าไม่มีทางตาย  ยกเว้นบางแห่งที่ไม่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยบ้างก็อาจจะตาย แต่“สิ่งพิมพ์”นั้น อย่างไรเสียก็ต้องมีอยู่   เพราะมนุษย์เราความสุขส่วนหนึ่งอยู่ที่ประสาทสัมผัส อย่างเช่น  ระหว่างรูปภาพที่ส่งมาให้ดูทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นรูปภาพความงามอันเดียวกันกับที่จัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์ แต่คนก็อยากดูของจริงด้วยตา จึงต้องดั้นด้นเดินทางไปดูของจริงที่พิพิธภัณฑ์ ดูแล้วดื่มด่ำกว่า หรือกรณีของกาแฟ การดื่มจะต้องได้รสได้กลิ่น แต่ถ้าไม่ได้กลิ่นการดื่มก็ไม่มีความสุขแล้ว

“อย่างหนังสือก็เช่นกัน จับต้องแล้วได้กลิ่นหมึก ได้กลิ่นอะไรต่าง ๆ   สาระอยู่ที่ไหน อยู่ประสาทสัมผัส หรือกรณีนิตยสารบ้านอารีย์ เขามีเว็บไซต์เผยแพร่เนื้อหาเหมือนกันหมด แต่คนส่วนใหญ่ก็อยากอ่านอยากจับต้องในส่วนที่เป็นหนังสือ ก็มีการไปสมัครสมาชิก หรือกรณีนิตยสารซีเคร็ตของอมรินทร์ฯ เป็นหนังสือธรรมะ ก็มีในสื่ออินเตอร์เน็ตเหมือนกัน แต่คนก็อยากจะอ่านหนังสือเล่มนี้..สื่อสิ่งพิมพ์ไม่ตายหรอก โรงพิมพ์ไม่มีทางตาย!

พิสูจน์ด้วยการที่ท่านปิยโสภณ ยกสิ่งพิมพ์เปรียบเป็น “กายทิพย์” ที่มีแต่จะต้องเพิ่มจำนวนขึ้นๆ เพื่อให้ช่วยเผยแพร่ขยายแนวคิดปลูกรากแก้วให้แผ่นดิน อย่างไม่รู้กาลจบสิ้น!


หมายเหตุ : สิ่งพิมพ์บุญ กายเนรมิต‘ปิยโสภณ’ / นายขันติ ลาภณัฐขันติ ผู้สัมภาษณ์/เรียบเรียง/ถ่ายภาพ ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก : Thaiprint magazine  เผยแพร่ครั้งที่ 2 : www.PrintingnewsTH.com